เว็บไซต์นี้เป็นเวอร์ชั่น Demo เท่านั้น หน้าหลัก

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม : พิธีตือรี

เมื่อ 09 Sep 2020 09:20 น.

แบบจัดทำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ส่วนที่ 1 ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

  1. ชื่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

: พิธีตือรี

  1. ชื่อเรียกในท้องถิ่น

ตือฆี

   ตรี

  มะตือรี

  มะตือฆี

  1. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

(  ) วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา

(  ) ศิลปะการแสดง

(P) แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล

(  ) งานช่างฝีมือดั้งเดิม

(  ) การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

  1. พื้นที่ปฏิบัติ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

ภาคใต้ชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย

อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

อําเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

อําเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  1. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

       ตือรีดูเหมือนการแสดงแต่จริงๆ แล้วตือรีคือเครื่องมือที่บำบัดรักษาผู้ที่มีอาการป่วย การป่วยจะมีการรักษาเป็น 2 ลักษณะคือ การรักษาโดยใช้การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน และการบำบัดรักษาอาการป่วยแบบดั่งเดิม บางครั้งการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของชาวบ้านเสมอไป ตือรีคือการรักษาแบบดั่งเดิม หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ตือรีคือการรักษาอาการป่วยแบบชีวจิตรบำบัด โดยมีดนตรีเป็นตัวขับกล่อม นอกจากนี้พิธีตือรียังต้องประกอบไปด้วยสมาชิก ได้แก่การปฏิบัติพิธีกรรมตือรี จำ เป็นต้องมีบอมอตือรีหรือเรียกอีกอย่างว่า โต๊ะตือรี (Tok Teri) ทำ หน้าที่เป็นหมอที่คอยบำ บัดรักษาความเจ็บป่วย ผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตือรีต้องได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษโดยตรงเท่านั้น หรือไม่ก็มีความสัมพันธ์ทางอดีตชาติที่ดลจิตดลใจให้มาประกอบพิธีดังกล่าว ทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจะเชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกแห่งวิญญาณได้ เพื่อที่จะหาต้นตอของความเจ็บป่วย โดยหลักการของการปฏิบัติพิธีกรรมตือรีจะมีบอมอมินโน๊ะหรือเรียกอีกชื่อว่า “โต๊ะมินโน๊ะ” ทำ หน้าที่เป็นบอมอที่ต้องเล่นเครื่องดนตรีประกอบ โต๊ะมินโน๊ะจะเล่นเครื่องดนตรีประเภทสี โดยจะสีซอมีชื่อเรียกอีกอย่างว่ารือบับ (Rebab) และทำหน้าที่สนทนาตอบโต้กันกับโต๊ะตือรีในช่วงที่โต๊ะตือรีเข้าทรง ซึ่งเป็นช่วงโต๊ะตือรีไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยหรือปือซากิต (Pesakit) และนักดนตรีหรือปือมิวสิค (Pemusik)

ตือรีเป็นการรักษาโรคของชาวมลายู เนื่องจากเชื่อว่าอาการป่วยมีความเกี่ยวข้องกับจิตใจหรือวิญญาณ ชาวมลายูส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยมาจากการคุกคามจากวิญญาณชั่วร้ายเช่น อิบลิส ญินและภูตผีซาตาน  เมื่อมีความเจ็บป่วยชาวบ้านที่นี่หันไปรักษาหรือบำบัดโรคแบบดั่งเดิม

ผู้ที่ทำพิธีจะเข้าทรงและใช้ดนตรีในการขับเดินเรื่องเร่าอารมณ์ ให้ผู้ป่วยหรือสิงที่สิงอยู่ในร่างของผู้ป่วยพูดออกมาว่าอะไรคือสิงที่สิงอยู่ในร่าง และสอบถามรายละเอียดว่ามาจากใหน มาทำให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยทำไม มีการสนทนากันให้สิ่งชั่วร้ายที่สิงอยู่ในร่างให้กลับไปที่เดิมที่เคยอยู่ เช่น หากมาจากภูเขาก็ให้กลับไปภูเขา หากมาจากทะเลก็ให้กลับไปทะเล

ในขณะทำพิธีผู้เข้าทรงจะพยายามหาตำแหน่งของการเจ็บป่วยไปทั่วร่างกายของผู้ป่วย เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการก็จะนำข้อมูลไปแจ้งแก่หมอตือรีวินิจฉัย การรักษาจะเลือกเวลาค่ำคืน ระยะเวลาในการรักษาอาการป่วยแบบตือรีมีระยะเวลาที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับอาการ บางรายใช้เวลาเพียงแค่  1 คืน บางรายใช้เวลา 3 คืน หากอาการหนักมากจะใช้เวลาในการรักษาถึง 7 คืนก็มี

       เวลาค่ำคืนจะเป็นเวลาเริ่มต้นของพิธีกรรมตือรี ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องดนตรีต่าง ๆ ซอรือบับ 1 คัน ฆอแนหรือกลอง 2 หนา จํานวน 2 ใบ ฆง 1 ใบ ปี่ 1 เลา นอกจากเครื่องดนตรีในการประกอบพิธีกรรมแล้วสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คืออุปกรณ์เช่นไหว้ครู ประกอบด้วยข้าวเหนียว ไข่ไก่ที่ต้มสุกแล้ว ธูปและเทียนสองเล่ม ธูปหอมห้าดอก น้ำ ข้าวตอก ข้าวสารสีเหลือง(ข้าวสารคลุกขมิ้น) หมากพลู เลอปัส (ใบมะพร้าวสาน แปลว่าปลดปล่อย) 3 ตัว

 

  1. ประวัติความเป็นมาของรากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ชาวไทยมุสลิมเป็นกลุ่มชนนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามเผยแผ่มาสู่แหลมมลายและภาคใต้ ของประเทศไทยประมาณคริสตศตวรรษที่ 10 โดยพ่อค้าชาวชวา เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแนน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซียและมีความสําคัญในด้านประวัติศาสตร์ ในอดีตจังหวัดปัตตานีเคยเป็นเมืองท่าที่สําคัญของชายฝั่งด้านตะวันออก เพราะมีทําเลเหมาะสมสําหรับเรือสินค้าที่มาจากชาติต่าง ๆ แถบเอเซียตะวันออกและประเทศตะวันตก ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับปัตตานี คือ โปรตุเกส ต่อมาชาวฮอลันดาได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์การค้าในปัตตานีประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 จากการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทยเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การติดต่อค้าขายกับชาวตางชาติ และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม คือ มาเลเซีย ทําให้ชาวไทยมุสลิมกับมุสลิมกลุ่มอื่นรับแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมดนตรีทั้งในแง่ความบันเทิงและพิธีกรรม

         ตือรีจัดเป็นดนตรีพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตือรีใช้รักษาโรคที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากถูกคุณไสย คําว่า “ตือรี” เป็นชื่อหนึ่งของรายอมูดอ หมายถึงกษัตริย์หนุ่มหรือยุพราช ปัจจุบันชาวบ้านเชื่อว่ารายอมูดอเป็นสายลมหรือวิญญาณที่จะมาช่วยเหลอผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เดิมรายอมูดอเดิน ทางจากอินเดียมาสู่แหลมมลายู ดังนั้นตือรีจึงเป็นความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ โดยได้รับอิทธิพลจากชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก่อนที่ศาสนาอิสลามเข้ามา

        เหตุที่นำดนตรีมาประกอบพิธีกรรมรักษาโรคเนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า มีพี่น้องชายหญิง 2 คนคือ อาริปดีแมและปะตือรีบอซู อยู่มาวันหนึ่งคนพี่คืออาริปดีแมลมป่วยรักษาเท่าไรก็ไม่หายจนกระทั่งผู้ป่วยฝันว่าได้พบกับโต๊ะซาแฮผู้ศักดิ์สิทธิ์ ท่านบอกว่าโรคนี้รักษาด้วยยาต่าง ๆ ไม่มีวันหายนอกจากไปหาโต๊ะนูยง คือหมอดูจะทํานายได้แม่นยํา ภายหลังอาริปดีแมทราบว่าเขาถูกวิญญาณตายายทำโทษ จึงไปหาพ่อหมอดูช่วยดูและทําพิธีกรรมรักษาด้วยการเตรียมเครื่องบูชาครู มีหมาก พลู ยาเส้น อย่างน้อย 3 คํา เงินบูชาครูอีก 12 บาท พร้อมกับทําพิธีตือรี ใช้ดนตรีคือซอรือบับ 1 คัน ฆอแนหรือกลอง 2 หนา จํานวน 2 ใบ ฆง 1 ใบ ในที่สุดผู้ป่วยก็หายจากโรคเพราะมีความเชื่อว่าวิญญาณไม่ได้ทําโทษเขาอีกแล้ว ปัจจุบันพิธิีกรรมรักษาโรคด้วยตือรียังได้รับการสืบทอดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อําเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และอําเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ฯลฯ

แม้ว่าประชากรบางส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะให้การยอมรับในศาสตร์ของตือรี แต่ก็มีข้อตกเถียงไม่น้อย เพราะหากมองจากทัศนะหรือหลักการของอิสลามแล้วในช่วงทศวรรษ 1970 กระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ กระแสดังกล่าวทำให้คนหรือชาวบ้านในพื้นที่หันมาปฏิบัติตามหลักการของศาสดา และเรียกร้องให้ผู้คนปฏิบัติตามหลักการที่สอดคล้องในคัมภีร์อัลกุรอาน จึงทำให้พิธีตือรีลดความนิยมลง

  1.  คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

คุณค่าทางจิตใจคือการได้เผื่อแผ่ผู้อื่นด้วยให้การช่วยเหลือ ขจัดโรคภัยไข้เจ็บ ให้กับผู้อื่น จิตอาสา โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ เป็นมูลค่า บอมอตืรีหรือพ่อหมอตือรีถือเป็นคนที่มีจิตอาสาของชุมชน เป็นหมอบ้านในการบำบัดและคนในพื้นที่ให้ความเคารพ หากคนในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วยและต้องการความช่วยเหลือในการรักษา  พ่อหมอตือรีจะต้องดำเนินการทันทีไม่ว่าคนนั้นจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ และเมื่อบ้านใดมีการทำพิธีตือรีเกิดขึ้น คนในชุมชนก็จะนำของมารวมช่วยเหลือกันในการดูแลคนป่วย รวมไปถึงการดูแลคนในคณะตือรีอีกด้วย

  1. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

หมอตือรีนั้นเป็นความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับชาวบ้านและคนในชุมชน สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน ประกอบกับคุณของหมอตือรีเป็นคน มีความรับผิดชอบ มีศีลธรรม ประพฤติตนดี ส่งผลให้คนในชุมชนต่างให้ความเคารพหมอตือรีเป็นอย่างสูง

  1. สถานการณ์คงอยู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

เสี่ยงต่อการสูญหาย

  1. สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

การถ่ายทอดความรู้

ยังมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นลูกหลาน มรดกตกทอดจากหลายชั่วอายุคน ผู้ที่รับช่วงต่อจะต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ

ปัจจัยคุกคาม

เนื่องจากประชากรชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่าพิธีตือรีขัดกับหลักการทางศาสนาอิสลาม ประกอบเทคโนโลยีทางสุขภาพและความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พิธีตือรีจึงลดความนิยมลง

  1. รายชื่อผู้สืบทอด/ครูภูมิปัญญา

  1. นายบือราเฮง ปิ ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  2. นายมะยูนา มะเย็ง ตำบลมาโมง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

  3. สะมะแอ บินเจะแม อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  4. นายยะกะ ยิดอซอ ตำบลสากอ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  5. นายยารี บินยาแว ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  6. นายวาฮับ การียา ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  7. นายเจะแว สะมะแอ ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  8. นายอารงค์ หะมะ ตำบลฆอเลาะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  9. นายบอสู ดาอ๊ะ ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  10. นายอาหามะ ยูโซะ ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

  11. นางซารมา โตะสะมือแร ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

  12. นางแลคอ เจะเงาะ ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส